เตือนภัยโรคที่มากับหน้าฝน

  • Last modified on:3 ปี ago
  • Reading Time:3Minutes
  • Post Words:27Words
  • PostView Count:219Views

เตือนภัยโรคที่มากับหน้าฝน !!

 

           ในฤดูฝนหรือช่วงที่มรสุมเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จะส่งผลให้อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคที่สำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูนี้ ยกตัวอย่างเช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคไข้หวัดนก โรคปอดอักเสบ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เป็นต้น

 

           อีกทั้งนอกจากนี้ในต่างจังหวัดบางพื้นที่ อาจมีการระบาดของโรคฉี่หนู หรือโรคแลปโตสไปโรซิส หรือโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เช่น ไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี เป็นต้น ดังนั้น สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ และ เตือนภัยโรคที่มากับหน้าฝน มาให้ทุกคนได้อ่านกัน  โดยกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยมี 5 กลุ่มดังนี้

 

กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร

 

           1. กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารเป็นสำคัญ เนื่องจากอาจจะรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ 

 

           อาการของผู้ป่วย : โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และบี ยังสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน

           วิธีการป้องกัน :  ดังนั้นในหน้าฝนนี้จึงควรระมัดระวังอาหารการกินเป็นพิเศษ โดยรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ๆ สะอาด ใช้ช้อนกลาง

 

กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง

 

           2. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง คือ โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อกลุ่ม Leptospira มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วยจึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคฉี่หนู” นอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ใน สุนัข วัว ควาย เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทางคือ ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือ โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัดทางอ้อม เช่น เชื้อจากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล มือสัมผัสเชื้อที่ปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเอาเชื้อเข้าทางเยื่อบุในปาก ตา จมูก หรือแม้กระทั่ง กินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป


           อาการของผู้ป่วย : อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้ โรคนี้มักเป็นเกิดในที่ที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น

 

           วิธีการป้องกัน : ทางตรงที่สามารถแก้ไขได้คือการกำจัดหนู หามีความจำเป็นในการเดินลุยน้ำควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ที่สำคัญคือควรหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ หากไม่มั่นใจว่าร่างกายเราสะอาดหรือไม่รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ยำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ 

เตือนภัยโรคที่มากับหน้าฝน

กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

 

           3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H1N1 ที่ขณะนี้พบการระบาดทั่วประเทศ และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปี เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้

 

  • โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

           อาการของผู้ป่วย : เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ โดยมากเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง แพทย์จะมีการพิจารณาให้ยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) รับประทาน 

           วิธีการป้องกัน : ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม  ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ หากมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วย ให้หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด และหากทราบว่าป่วยควรหยุด หยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

  • โรคปอดอักเสบ เกิดจากการที่ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ (ปอดบวม) เป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อจากที่ชุมชนทั่วไป หรือจากภายในโรงพยาบาล 

           อาการของผู้ป่วย : ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ  หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย อ่อนเพลีย ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ

           วิธีป้องกัน : ฉีดวัคซีนป้องกันโรค  แพทย์แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งหมายถึง เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ฉีดวัคซีนที่ให้ผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อซึ่งได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine)

 

โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

           4. โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

  •  โรคอุจจาระร่วง  เกิดจากเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และหนอนพยาธิ เป็นต้น สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป

           อาการของโรค : ถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

 

  • โรคอาหารเป็นพิษ  เกิดจากเชื้อต่างๆ  จากพิษของเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด และไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ 

           นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ และไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทาน อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดท้อง เนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้  นอกจากนี้ มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง  ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากมีการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อ หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต จะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

 

  • โรคอหิวาตกโรค ติดต่อโดยการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน 

           อาการของโรค : อาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนมีภาวะขาดน้ำรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้

 

      วิธีการป้องกัน : ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร และ รับประทานอาหาร หรือหลังจากการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท อีกทั้งควรรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หากต้องการรับประทานอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม

 

โรคติดต่อนำโดยยุงลาย

5. โรคติดต่อนำโดยยุงลาย

 

  •  โรคไข้เลือดออก ที่เรารู้จักกันและระบาดมากในช่วงหน้าฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้ 
  •  โรคไข้ปวดข้อยุงลาย มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก

           วิธีการป้องกัน : แบ่งออกเป็น 2 วิธีได้แก่

  1. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง กางมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือใช้อุปกรณ์ดักจับยุง
  2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขังควรเทน้ำทิ้งหรือหาฝาปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ ยุงลายสามารถวางไข่ได้ และควรกำจัดลูกน้ำยุงลายบริเวณที่อยู่อาศัย (ภายในระยะรัศมี 50 เมตร)

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 0 / 5. Vote count: 0