มีเสมหะเสี่ยงโรคร้าย
ถ้าท่านมีปัญหา สเลด หรือเสมหะในคอตลอด เป็นๆหายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี และหาทางออกให้กับปัญหานี้อยู่ วันนี้ สุขภาพดีดี.com ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการ มีเสมหะอันตรายอย่างไร และ มีเสมหะเสี่ยงโรคร้าย อย่างไร? ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มาให้ทุกคนได้อ่านและทำความรู้จักกันค่ะ ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นกันที่ทำความรู้จักกับเสมหะ หรือเสลด กันก่อนค่ะ
สเลด เสมหะ หรือ คือสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมา จากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ การที่มีเสมหะ หรือสเลดในคอเรื้อรัง อาจเกิดจากโรค หรือภาวะบางอย่าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเสมหะเป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อเจอสิ่งระคายเคือง เช่น ฝุ่น เกสร หรือการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
โดยร่างกายจะสร้างมูกออกมา และเมื่อมูกในจมูกใหลลงคอ หรือมูกที่อยู่ในคอเอง หรือมูกในหลอดลมที่ถูกขับขึ้นมาอยู่ที่คอก็จะกลายเป็นเสมหะอยู่ในลำคอ ซึ่งอาจเกิดจากโรคต่างๆ ทุกคนสามารถสังเกตตัวเองเบื้องต้นได้ ว่าตนนั้นมีความเสี่ยงกับโรคไหนหรืออาการไหนมากที่สุด ดังนี้ค่ะ
- โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นสเลด หรือเสมหะในคอนั่นเอง ซึ่งมักจะมีสีขาวใส หรือขุ่น ยกเว้นเวลาเช้า เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นมา อาจมีสีเหลืองขุ่นได้เนื่องจากมีการคั่งค้างของน้ำมูก หรือเสมหะ อยู่ในจมูก หรือคอเป็นระยะเวลานาน
- โรคไซนัสอักเสบ เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก ให้มีเสมหะไหลลงคอได้เหมือน ข้อ 1 นอกจากนี้สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะได้ ซึ่งมักจะมีสีเขียว หรือเหลืองตลอดเวลา
- โรคกรดไหลย้อน เมื่อกรดไหลขึ้นมาที่คอหอยจากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้ นอกจากนั้นกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำคอ ทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป ทำให้มีเสมหะค้างอยู่ที่ลำคอได้ นอกจากนั้น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง กรดไหลย้อนที่ออกไปนอกหลอดอาหาร อาจไปถึงเยื่อบุจมูกทางด้านบน และกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูกให้ทำงานมากขึ้นทำให้นีน้ำมูก หรือมีเสมหะไหลลงคอได้
-
โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคหืด โรคทั้งสองดังกล่าวนี้ มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลม หรือคอตลอดได้
- การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ เช่นจากเชื้อรา, เชื้อวัณโรค, เชื้อซิฟิลิส, เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุลำคอ ซึ่งอาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้
- การระคายเคือง และ/หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ เช่น การสัมผัสสารเคมี, มลพิษ, สารระคายเคือง เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมี มลพิษ หรือสารระคายเคืองมาก, การสูบบุหรี่, การดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การไอ, การอาเจียนที่บ่อยและเรื้อรัง, เนื้องอกในลำคอ, พังผืด หรือแผลเป็นในลำคอ หรือแม้แต่การที่อยู่ในห้อง หรือสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ หรืออาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอ ให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติได้
การรักษาอาการเสมหะ |
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ หาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุที่แท้จริง ถ้าหากผู้ป่วยไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือล่าง เช่น หวัด หรือหลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มากนัก อาจให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ยาบรรเทาอาการไอ ถ้าไอและมีเสมหะเหนียวข้นมาก ขับออกจากหลอดลมได้ยาก ก็อาจให้ยาละลายเสมหะช่วย แต่ถ้าผู้ป่วย ได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะทำการรักษาโดยให้ยาต้านจุลชีพร่วมด้วย
แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ สุขภาพดีดี.com มีวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ มาแชร์ให้ทุกคนได้ทำตามกันค่ะ
- ดื่มน้ำเยอะขึ้น โดยเลือกดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น เพื่อให้น้ำช่วยละลายเสมหะพร้อมทั้งกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายไปด้วย
- ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอุ่น น้ำซุป หรือเครื่องดื่มอุ่น ๆ ชนิดอื่นก็สามารถดื่มเพื่อขจัดเสมหะได้ เพราะน้ำอุณหภูมิสูงกว่าปกติจะช่วยละลายเสมหะในลำคอได้ไม่มากก็น้อย
- กินอาหารรสชาติเผ็ดร้อน ถ้าไม่มีปัญหากับรสชาติเผ็ด ให้ลองกินอาหารรสชาติจัดจ้าน อย่างต้มยำ แกงเลียง ยำ หรือน้ำพริกก็ได้ สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของอาหารเหล่านี้ รวมทั้งน้ำซุปร้อน ๆ จะช่วยขับเสมหะและช่วยเปิดทางให้ระบบหายใจคล่องตัวมากขึ้น ทว่าสำหรับคนที่กินเผ็ดไม่ค่อยเก่ง แนะนำเป็นต้มจืดร้อน ๆ สักถ้วยก็ได้ค่ะ
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือ 1/4 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้วใหญ่ จากนั้นนำมากลั้วคอ โดยให้เงยหน้าขึ้นระหว่างที่กลั้วคอด้วย เกลือจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบในลำคอ รวมทั้งน้ำอุ่นก็จะช่วยละลายเสมหะไปด้วยในตัว
- กลั้วคอด้วยน้ำโซดาแช่เย็น หากไม่สะดวกจะใช้น้ำเกลือกลั้วคอ จะใช้โซดาเปล่าแช่เย็นแทนก็ได้ ความซ่าของโซดาจะทำให้เสมหะลดน้อยลง โดยเฉพาะช่วยลดการกระแอมไอในคนที่รู้สึกว่ามีเสมหะค้างอยู่ในลำคอตลอดเวลา