อาการบ้านหมุน เกิดจากอะไร

  • Last modified on:2 ปี ago
  • Reading Time:2Minutes
  • Post Words:30Words
  • PostView Count:185Views

 

อาการบ้านหมุน เกิดจากอะไร

             อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการที่พบบ่อย โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงการที่รู้สึกสมองตื้อไม่แจ่มใส เหมือนมีเมฆหมองบางๆ ปกคลุม คล้ายคนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทำงานหรือลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างไม่เต็มที่ ประกอบกับประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น การได้ยิน และการทรงตัวลดลง ซึ่ง สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลดีๆเกี่ยวกับ อาการบ้านหมุน เกิดจากอะไร ? มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ เริ่มต้นกันที่สาเหตุหลักของอาการบ้านหมุนมีสาเหตุหลักๆ มาจากปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้

 

  1. ระบบประสาทรับภาพของตา (หรือระบบประสาทเคลื่อนไหวลูกนัยน์ตา) ไม่สัมพันธ์กับสภาพที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น ในขณะที่รถกำลังวิ่งเร็ว หรือมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วๆ
  2. ระบบประสาทรับสัมผัสจากระบบต่าง ๆ ไม่เป็นปกติ เช่น การยืนใกล้กับหน้าผาที่มีขนาดใหญ่มาก หรือเกิดภาวะกลัวความสูง
  3. ระบบรับสัญญาณประสาทของสมองส่วนกลาง เช่น ประสาทส่วนกลางถูกกดจากการทานยานอนหลับ ดื่มสุราหรือภาวะอดนอน ภาวะความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัว หรือมีโรคทางกายที่มีผลต่อสมอง ได้แก่ ภาวะขาดสารอาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น

 

อาการเวียนศีรษะและอาการบ้านหมุน ต่างกันอย่างไร

             อาการเวียนศีรษะ (Dizziness) โดยทั่วไปมีลักษณะอาการตั้งแต่มึนศีรษะ งุนงง โคลงเคลง ไม่มั่นใจ หวิว ๆ โหวง ๆ ยืนเดินทรงตัวไม่ดี อาจงง มักมีสาเหตุมาจากสภาวะต่าง ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง

             อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) ที่จะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือตนเองกำลังหมุนไปทั้งที่อยู่กับที่ หรือรู้สึกโคลงเคลงทั้งที่อยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว

ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวของหูชั้นในที่คอยดูแลสมดุลของร่างกาย หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ มีเสียงในหู ฯลฯ ความน่ากลัวคือเมื่อเวียนศีรษะบ้านหมุนจะเสียการทรงตัว ทำให้เสี่ยงต่อการล้มหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กโดยเร็วจะได้ทราบถึงต้นเหตุและรักษาได้อย่างถูกวิธี

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว
  • โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน พบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้คือ อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะ (ระหว่างล้มตัวลงนอน ก้มหยิบของ) อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป แต่ผู้ที่ป่วยโรคนี้มักมีอาการเป็นซ้ำเกือบทุกวัน แต่จะไม่มีอาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน หรือได้ยินเสียงผิดปกติในหู รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง

 

  • โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน ไมเกรนเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะปวดหัวข้างเดียว มีอาการปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งในบางครั้งแทนที่จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวเป็นอาการที่โดดเด่น แต่กลับกลายเป็นว่ามีอาการเวียนหัวแทน มักจะเป็นๆ หายๆ สลับกันไป เมื่อมีอาการเกิดขึ้นประสิทธิภาพการได้ยินจะลดลง หูอื้อ แพ้แสงจ้า หรือมีการเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย บางครั้งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากเกิดอาการหูอื้อ

 

  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียการทรงตัว เดินแล้วเซหรือล้มได้ง่าย โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับร่างกายเพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวเพิ่มขึ้นได้

 

  • โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตหลายประเภท ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เลือดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา

 

  • โรคที่เกิดจากความเครียด หรือโรคทางจิตเวช จะเกิดอาการเวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่โล่ง ที่สูง หรือที่ชุมชน แต่อาการจะหายไปเมื่อไม่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อผู้ป่วยเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดอาการหายใจเร็วกว่าปกติมาก (Hyperventi lation syndrome) หายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชาและเย็น หรือมือจีบเกร็ง และเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก
การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการบ้านหมุน
  • ขณะเดิน ให้หยุดเดินทันที หาที่นั่งพัก ป้องกันการล้มและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
  • ขณะขับรถ ให้จอดรถข้างทางเปิดไฟฉุกเฉินทันที 
  • ถ้าเวียนศีรษะบ้านหมุนมากให้นอนพบพื้นราบโดยไม่เคลื่อนไหว มองจ้องวัตถุนิ่ง จนอาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลุก หากรู้สึกง่วงนอนควรนอนหลับพักผ่อนให้อาการดีขึ้น
  • เลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น เครียด วิตกกังวล นอนน้อย สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ฯลฯ
  • เลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น หมุนหันศีรษะเร็ว ๆก้ม เงยคอมากเป็นเวลานาน หรือหันหน้าเร็ว ฯลฯ
  • เลี่ยงเสียงดัง
  • ลดหรืองดดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม

การบริหารตัวเองเพื่อป้องกันอาการบ้านหมุน

  • บริหารศีรษะ
    • ก้มศีรษะไปข้างหน้าแล้วแหงนไปข้างหลัง ทำขณะลืมตา ทำช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
    • หันศีรษะจากด้านหนึ่ง ไปยังอีกด้านหนึ่ง ทำช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทำทั้งหมด 20 ครั้ง ควรทำในขณะที่หลับตา
  • บริหารตา
    • มองขึ้นบนแล้วมองลงล่าง ทำช้าๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
    • กลอกตาจากซ้ายไปขวา แน่นอนว่าให้เริ่มต้นทำช้าๆ เช่นกัน เพราะถ้าเริ่มทำแบบเร็วๆ จะทำให้เวียนหัว มึนหัวมากกว่าเดิม ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
    • เหยียดแขนไปข้างหน้าสุดแขน และใช้สายตาจ้องนิ้วชี้เอาไว้ จากนั้นค่อยๆ เลื่อนกลับมาที่เดิมช้าๆ ทำแบบนี้ 20 ครั้ง
  • บริหารในท่านั่ง
    • ยกไหล่ขึ้นลง 20 ครั้ง ขณะที่นั่งอยู่
    • หันไหล่ไปทางขวา แล้วหันไปทางซ้าย ทำ 20 ครั้ง
    • ก้มตัวไปข้างหน้าแล้วหยิบของจากพื้นช้าๆ แล้วค่อยๆ ดึงตัวกลับมานั่งตรง ทำซ้ำแบบนี้ 20 ครั้ง จะรู้สึกว่าได้ยืดเส้นยืดสาย
  • การเคลื่อนไหว
    • เดินขึ้นลงบันได ขณะลืมตา 10 ครั้ง ขณะหลับตาอีก 10 ครั้ง
    • โยนลูกบอลยางเล็กๆ โดยต้องโยนจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งแล้วรับให้ได้ มีข้อแม้ว่าต้องโยนให้สูงเหนือระดับตา ทำอย่างน้อย 10 ครั้ง

 

ที่มาข้อมูล : www.sikarin.com

www.siphhospital.com

www.bangkokhospital.com

www.phyathai.com

 

 

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 5 / 5. Vote count: 1