อาการของภาวะหัวใจสลาย

  • Last modified on:3 ปี ago
  • Reading Time:2Minutes
  • Post Words:35Words
  • PostView Count:180Views

อาการของภาวะหัวใจสลาย

 

             เราคงเคยได้ยินหรือมีประสบการณ์โดยตรงกันมาบ้างแล้ว เมื่อเราอกหักจะมีอาการแปลกๆเกิดขึ้นกับร่างกายเราโดยเฉพาะที่ ” หัวใจ ” โดยสังเกตได้ง่ายสุดเลยคือใจสั่นและเริ่มเจ็บแปล๊บๆที่หัวใจ ซึ่งอาการนี้ไม่ใช่อาการที่เจ็บจากความเสียใจเท่านั้น แต่เป็นอาการเจ็บจากอวัยวะภายในเช่นเดียวกัน ซึ่งเราจะสามารถเรียกอาการนี้ได้ว่า ” อาการหัวใจสลาย ” ซึ่งวันนี้ สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ อาการของภาวะหัวใจสลาย และสาเหตุของภาวะหัวใจสลาย มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

 

 

             เริ่มต้นจากทำความรู้จักกับอาการหัวใจสลายกันก่อนค่ะ อาการหัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome หรือ Takotsubo Cardiomyopathy) คือ ภาวะเจ็บหน้าอกกะทันหันร่วมกับหายใจลำบากคล้ายอาการของหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากการเผชิญสถานการณ์เครียดจัดอย่างทันทีทันใด เช่น การสูญเสียคนรัก การบาดเจ็บสาหัส หรือการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งทำให้หัวใจสูญเสียการทำงานชั่วคราวและเกิดขึ้นได้หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง

 

             อ้างอิงจาก นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด ซึ่งค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในชื่อเรียกว่า Takotsubo Cardiomyopathy พบมากในหญิงวัยกลางคน มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากโรคทางกาย (Physical Stress) หรือความเครียดด้านจิตใจ (Mental Stress) ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติโป่งออกรูปร่างคล้ายไหจับปลาหมึกของญี่ปุ่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ ซึ่งอันตรายมากและมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างมากขึ้นเป็นวงกว้าง

 

สาเหตุของหัวใจสลาย

             ภาวะหัวใจสลายไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ภาวะที่ทำให้ร่างกายได้รับอันตราย และปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้

  • ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การสูญเสียคนรัก ปัญหาด้านการเงิน ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การตกงาน การพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น
  • ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น หอบหืด การบาดเจ็บสาหัส การผ่าตัดใหญ่ อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือร่างกายอ่อนล้า
  • การหลั่งฮอร์โมน ร่างกายอาจหลั่งฮอร์โมนเพื่อตอบสนองต่อความเครียด เช่น อะดรีนาลีน และนอร์อะดรีนาลีน
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น อิพิเนฟริน ซึ่งใช้รักษาโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดรุนแรง ดูล็อกเซทีน ซึ่งใช้รักษาโรคระบบประสาท เบาหวาน หรือซึมเศร้า เวนลาแฟ็กซีน ซึ่งใช้รักษาโรคซึมเศร้า และลีโวไทร็อกซีน ซึ่งใช้รักษาภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหดตัวกะทันหันจากความเครียด และภาวะหลอดเลือดหัวใจขนาดเล็กไม่ทำงานจากระดับฮอร์โมนที่ลดลงในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
อาการของหัวใจสลาย
  • เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างกะทันหัน
  • หายใจลำบากคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด
  • ผู้ป่วยอาจหน้ามืด
  • ความดันเลือดต่ำ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ช็อกจากหัวใจทำงานผิดปกติ
  • หัวใจวายได้

             ผู้ป่วยหัวใจสลายควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ทันที เพราะอาการของโรคคล้ายกับภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจทำให้หัวใจเสียหายและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยอาการของหัวใจสลายจะมีลักษณะที่แตกต่างจากหัวใจขาดเลือดดังนี้

  • หัวใจสลายเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหลังเกิดความเครียดทางจิตใจหรือร่างกาย แต่หัวใจขาดเลือดเกิดจากหลอดเลือดบริเวณหัวใจอุดตัน จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • หัวใจสลายอาจทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดใหญ่และบีบตัวผิดปกติ แต่หัวใจขาดเลือดทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดออกซิเจน
  • ผู้ป่วยหัวใจสลายอาจหายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหรือสัปดาห์ แต่ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดมักต้องพักฟื้นนานหลายเดือน

 

ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจสลาย

             แม้ผู้ป่วยหัวใจสลายมักหายเป็นปกติได้เร็วภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่บางรายอาจเกิดหัวใจสลายซ้ำอีกหากประสบกับภาวะเครียดจัด และบางรายอาจเผชิญภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนี้

  • ความดันเลือดต่ำ
  • ปอดบวมน้ำ
  • ลิ้นหัวใจมีปัญหา เช่น ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว
  • หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย ช็อค หรือเสียชีวิต

 

การป้องกันหัวใจสลาย

             ดูแลสุขภาพจิตด้วยการรับมือกับปัญหาและจัดการความเครียด เช่น ปรึกษาปัญหากับเพื่อนหรือครอบครัว รู้จักปฏิเสธ ปล่อยวาง มองโลกในแง่ดี เข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ เป็นต้น

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เพื่อป้องกันผลกระทบของความเครียดต่อหัวใจในระยะยาว

 

             ทุกคนคงอยากรู้เกี่ยวกับการแก้ไขและการรักษาใช่ไหมคะ การรักษาอาการของโรคนี้ โดยปกติอาการของ หัวใจวายจากภาวะ Broken Heart Syndrome จะเกิดขึ้นชั่วคราว และค่อยๆ หายไปได้เอง การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยให้ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ยาขับปัสสาวะ ยาควบคุมการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ

 

             ในบางรายที่อาการรุนแรงมากมีภาวะหายใจล้มเหลวด้วยอาจจะต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ นอกจากการให้ยา หรือเครื่องมือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ยังจำเป็นที่ต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นต้นเหตุของภาวะ Broken Heart Syndrome ควบคู่กันอีกด้วยค่ะ

 

             สุขภาพดีดี.com เป็นห่วงสุขภาพกายและสุขภาพจิตของทุกท่านนะคะ อยากให้ทุกท่านมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี อย่าลืมดูแลตัวเองกันนะคะ ^^ 💗

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

คลิกที่ดาว เพื่อให้คะแนนบทความ

Average rating 0 / 5. Vote count: 0